# เอกสาร วันที่ เอกสาร
1 3.พรบ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา พ.ศ. 2562.pdf [26 ต.ค. 2563] [10:46 น.]

พระราชบัญญัติ

ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา

วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

พ.ศ. ๒๕๖๒

                  

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒

เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

 

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒”

 

มาตรา ๒[๑]  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

มาตรา ๓  ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒

(๒) พระราชบัญญัติสภาวิจัยแห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๗

(๓) ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๑๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕

 

มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้

“การอุดมศึกษา” หมายความว่า การศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรม ผลิตและพัฒนากำลังคนในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง

“สถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า สถาบันที่จัดการอุดมศึกษาระดับปริญญาและระดับต่ำกว่าปริญญาทั้งที่เป็นของรัฐและของเอกชน

“สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ” หมายความว่า สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่อยู่ในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวง” หมายความว่า สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“ส่วนราชการในกระทรวง” หมายความว่า ส่วนราชการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘

“หน่วยงานในกำกับ” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ และองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน ที่อยู่ในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่ไม่หมายความรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

“หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรม

“การวิจัย” หมายความว่า การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ หรือทดลองอย่างเป็นระบบ อันจะทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ความรู้ใหม่ หรือหลักการไปใช้ในการตั้งกฎ ทฤษฎี แนวทางในการปฏิบัติเพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรม อันจะสามารถนามาใช้ประโยชน์ได้

“ระบบวิจัย” หมายความว่า การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกันอย่างประสานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด

“มาตรฐานการอุดมศึกษา” หมายความว่า ข้อกำหนดขั้นต่ำเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ และเกณฑ์อื่นในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ข้อกำหนดขั้นต่ำของหลักสูตรการศึกษา และข้อกำหนดขั้นต่ำของเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา และมาตรฐานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งเสริม การกำกับดูแล การตรวจสอบ ติดตามและประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา

“นวัตกรรม” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ บริการ กรรมวิธีที่เกี่ยวกับการผลิตการจัดโครงสร้างองค์กร ระบบบริหารจัดการ การบริหารการเงิน ธุรกิจ การตลาดหรือในการอื่นใด  ทั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ

“สภานโยบาย” หมายความว่า สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

“คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

“กระทรวง” หมายความว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๕ ให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติมาใช้บังคับแก่การบริหารราชการกระทรวงโดยอนุโลม เว้นแต่ในพระราชบัญญัตินี้จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

 

มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาอันเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

หมวด ๑

บททั่วไป

                  

 

มาตรา ๗  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งให้มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการอุดมศึกษาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีความเป็นอิสระทางวิชาการและการบริหารจัดการ ให้มีการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และให้ดำเนินการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ

(๒) ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่ในสังกัดกระทรวงหรือกำกับดูแลของรัฐมนตรี รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่นอกกระทรวงเพื่อให้เกิดความร่วมมือ และดำเนินการไปในทิศทางที่มีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ

(๓) จัดให้มีระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และความร่วมมือในด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคคลหรือหน่วยงานในต่างประเทศ

(๔) ปฏิบัติการอื่นที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของกระทรวง

ในการดำเนินการตาม (๓) กระทรวงอาจมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดหรือในกำกับเป็นผู้ดำเนินการ หรืออาจร่วมดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชนหรือต่างประเทศก็ได้

 

หมวด ๒

การแบ่งส่วนราชการ

                  

 

มาตรา ๘  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

(๑) สำนักงานรัฐมนตรี

(๒) สำนักงานปลัดกระทรวง

(๓) กรมวิทยาศาสตร์บริการ

(๔) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

(๕) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

(๖) สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการ

ส่วนราชการตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ส่วนราชการตาม (๖) มีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีระเบียบบริหารราชการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น

 

มาตรา ๙  การแบ่งส่วนราชการภายในส่วนราชการตามมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ให้ออกเป็นกฎกระทรวง และให้ระบุหน้าที่และอำนาจของแต่ละส่วนราชการไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการดังกล่าว

 

มาตรา ๑๐  สำนักงานรัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับราชการทางการเมือง มีเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานรัฐมนตรีขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี และจะให้มีผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ช่วยสั่งหรือปฏิบัติราชการแทนเลขานุการรัฐมนตรีก็ได้

 

มาตรา ๑๑  สำนักงานปลัดกระทรวงมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของกระทรวง รวมทั้งร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง กำกับและเร่งรัดการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บท แผนด้านการอุดมศึกษา แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และแผนอื่น ส่งเสริมการศึกษาระดับอุดมศึกษา จัดทำข้อเสนอนโยบายและแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ จัดการศึกษาตลอดชีวิต จัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา จัดทำฐานข้อมูลการอุดมศึกษา รวมทั้งวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว เพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการอุดมศึกษา สนับสนุนการกำกับ ตรวจสอบติดตามและประเมินผลตามมาตรฐานการอุดมศึกษา และทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ตลอดจนรับผิดชอบราชการที่คณะรัฐมนตรีมิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการใดส่วนราชการหนึ่งในสังกัดกระทรวงโดยเฉพาะ มีปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง

 

มาตรา ๑๒  กรมวิทยาศาสตร์บริการมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการให้บริการทางวิทยาศาสตร์โดยกำกับดูแล ส่งเสริม วิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นสถานปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ เพื่อเสริมสร้างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน มีอธิบดีคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการนั้นให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง

 

มาตรา ๑๓  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรมและการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณ หรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม มีผู้อำนวยการคนหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง

 

มาตรา ๑๔  สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และกำกับให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ประชาชน และสิ่งแวดล้อม โดยการบริหารจัดการด้านพลังงานนิวเคลียร์และรังสี กำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อให้มีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติให้เป็นไปตามพันธกรณีหรือความตกลงระหว่างประเทศและมาตรฐานสากล มีเลขาธิการคนหนึ่งซึ่งมีฐานะเทียบเท่าอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ให้เป็นไปตามกฎหมายนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง

 

มาตรา ๑๕  ระเบียบปฏิบัติราชการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

การแบ่งส่วนราชการภายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการในสังกัดของกระทรวงให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น

เพื่อประโยชน์ในการให้ได้รับสิทธิประโยชน์ของทางราชการและการสรรหาหรือเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ถือว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงซึ่งเป็นส่วนราชการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี

 

หมวด ๓

การจัดระเบียบราชการ

                  

 

ส่วนที่ ๑

รัฐมนตรี

                  

 

มาตรา ๑๖  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง กำหนดนโยบาย เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนด้านการอุดมศึกษา แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และแผนอื่น และนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติโดยจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้

ในกรณีที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง การสั่งหรือการปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

 

มาตรา ๑๗  นอกจากหน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๑๖ ให้รัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการอุดมศึกษา ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอแนะต่อสภานโยบายในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล

(๒) เสนอแนะกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้านการอุดมศึกษาต่อสภานโยบาย รวมทั้งเสนอระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ตามกรอบวงเงินดังกล่าวให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา

(๓) ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติในการพิจารณาคำของบประมาณรายจ่ายประเภทงบลงทุนและงบเงินอุดหนุนในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวง

(๔) กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำคำของบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวง

(๕) เสนอต่อนายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณางบประมาณด้านการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

(๖) กำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของสถาบันอุดมศึกษาด้วย

(๗) รับรองและเพิกถอนการรับรองวิทยฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และรับรองมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

(๘) พิจารณาเสนอการจัดตั้ง ยุบ รวม ปรับปรุง และเลิกสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรี

(๙) เสนอแนะและให้ความเห็นเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่อยู่ในสังกัดของกระทรวงต่อคณะรัฐมนตรี

(๑๐) เสนอแนะให้สภาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวง และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีธรรมาภิบาล

(๑๑) วินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง

(๑๒) วินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการอุดมศึกษาอย่างร้ายแรง

(๑๓) วางระเบียบการปฏิบัติราชการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ร่วมกันของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงอันมิใช่กิจการของสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ และกำหนดแนวทางการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงสามารถบริหารงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

(๑๔) รายงานผลการปฏิบัติตามแผนด้านการอุดมศึกษาต่อคณะรัฐมนตรีและสภานโยบาย

(๑๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือสภานโยบายมอบหมาย

การดำเนินการตาม (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๘) (๙) และ (๑๑) รัฐมนตรีต้องดำเนินการโดยข้อเสนอแนะและความเห็นชอบของคณะกรรมการการอุดมศึกษา ส่วนการดำเนินการตาม (๖) (๗) และ (๑๒) รัฐมนตรีต้องดำเนินการโดยข้อเสนอแนะและความเห็นชอบของคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา สำหรับการดำเนินการตาม (๘) และ (๙) คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาอาจให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรีได้

 

มาตรา ๑๘  นอกจากหน้าที่และอำนาจตามมาตรา ๑๖ ให้รัฐมนตรีมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพิจารณาคำของบประมาณและการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม

(๒) วางระบบการบูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณของหน่วยงานในกำกับที่มีหน้าที่ดำเนินการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกำกับให้เป็นไปตามระบบดังกล่าว

(๓) ขอให้กระทรวง ทบวง กรมอื่น หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชน ให้ข้อมูล สถิติ ผลการดำเนินการ และการอื่นที่เกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้น

(๔) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือสภานโยบายมอบหมาย

ในการดำเนินการตาม (๒) สภานโยบายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อาจกำหนดระเบียบขึ้นใช้บังคับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ก็ได้

 

ส่วนที่ ๒

ปลัดกระทรวง

                  

 

มาตรา ๑๙  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมีปลัดกระทรวงคนหนึ่ง มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) รับผิดชอบควบคุมราชการประจำในกระทรวง แปลงนโยบายเป็นแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการ กำกับการทำงานของส่วนราชการในกระทรวงให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และประสานการปฏิบัติงานของส่วนราชการในกระทรวงให้มีเอกภาพสอดคล้องกัน รวมทั้งเร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกระทรวงให้เป็นไปตามแผนงานของกระทรวง

(๒) เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการของส่วนราชการในกระทรวงรองจากรัฐมนตรี และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานปลัดกระทรวง

(๓) ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนสามารถบริหารงานได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

ในการปฏิบัติราชการของปลัดกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้มีรองปลัดกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการ และจะให้มีผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีรองปลัดกระทรวงหรือผู้ช่วยปลัดกระทรวงหรือมีทั้งรองปลัดกระทรวงและผู้ช่วยปลัดกระทรวงให้รองปลัดกระทรวงหรือผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการรองจากปลัดกระทรวง

ให้รองปลัดกระทรวง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง และผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานปลัดกระทรวงมีหน้าที่และอำนาจตามที่ปลัดกระทรวงกำหนดหรือมอบหมาย

 

หมวด ๔

คณะกรรมการ

                  

 

ส่วนที่ ๑

คณะกรรมการการอุดมศึกษา

                  

 

มาตรา ๒๐  ให้มีคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “กกอ.” ประกอบด้วย

(๑) ประธานกรรมการคนหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากข้อเสนอของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย โดยให้เสนอได้ฝ่ายละหนึ่งคน

(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ประธานกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

(๓) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาจากผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษา จำนวนไม่เกินสองคน

(๔) กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาจากผู้เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษา จำนวนไม่เกินสองคน

(๕) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ได้รับการสรรหาซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านการศึกษา ด้านกฎหมาย ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสังคม ด้านอุตสาหกรรม หรือด้านธุรกิจ จำนวนไม่เกินเจ็ดคน

ให้รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ

ประธานกรรมการ กรรมการตาม (๓) และ (๔) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๕) มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

การสรรหากรรมการตาม (๓) และ (๔) ผู้เข้ารับการสรรหาจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรืออธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาใดในขณะที่เข้ารับการสรรหา

หลักเกณฑ์ วิธีการได้มา คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการ กรรมการตาม (๓) และ (๔) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๕) ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยประธานกรรมการและกรรมการตาม (๓) และ (๔) จะดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรืออธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาระหว่างการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมิได้

 

มาตรา ๒๑  นอกจากการให้ข้อเสนอแนะและความเห็นชอบแก่รัฐมนตรีตามมาตรา ๑๗ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๘) (๙) และ (๑๑) แล้ว กกอ. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดแผนปฏิบัติการการอุดมศึกษา แผนปฏิบัติการการพัฒนากำลังคนของประเทศและการจัดการศึกษาตลอดชีวิต ให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศที่สภานโยบายกำหนด

(๒) เสนอแนะและให้ความเห็นเชิงนโยบายต่อรัฐมนตรีเรื่องการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามข้อตกลงการพัฒนาการอุดมศึกษาซึ่งกระทำกับสำนักงานปลัดกระทรวง

(๓) กำกับ เร่งรัด ติดตาม และจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติตามแผนด้านการอุดมศึกษาและการใช้งบประมาณของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวง

(๔) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการให้สภาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามหลักการอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(๕) เสนอแนะรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการตามมาตรา ๗

(๖) เสนอแนะการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม แก่คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

(๗) กำกับ เร่งรัด ติดตาม และให้คำแนะนำแก่สำนักงานปลัดกระทรวงในการจัดทำฐานข้อมูลการอุดมศึกษา โดยอย่างน้อยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาทุกประเภท ผู้เรียน คณาจารย์ ผู้ใช้บัณฑิต และสถิติอื่นที่ถูกต้องและทันสมัย รวมทั้งการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการอุดมศึกษา และการพัฒนาประเทศบนฐานความรู้ได้ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลและผลการวิเคราะห์ สังเคราะห์ต่อสาธารณชนตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

(๘) รายงานผลการปฏิบัติตามแผนด้านการอุดมศึกษาตามหน้าที่และอำนาจต่อรัฐมนตรี

(๙) ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และความเห็นต่อรัฐมนตรีหรือสภานโยบายตามที่รัฐมนตรีหรือสภานโยบายมอบหมาย

(๑๐) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำการแทนหรือเพื่อดำเนินการตามที่ กกอ. มอบหมาย

(๑๑) ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของ กกอ. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือสภานโยบายมอบหมาย

การใช้อำนาจของ กกอ. ต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระ ความหลากหลาย ประเภทและกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา รวมทั้งสถานภาพของแต่ละสาขาวิชาและแต่ละสถาบันอุดมศึกษาด้วย

 

มาตรา ๒๒  การประชุม กกอ. ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุม กกอ. ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ให้มีการประชุม กกอ. อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง

 

มาตรา ๒๓  กกอ. อาจขอให้สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานของรัฐหรือของเอกชน หรือบุคคล ส่งข้อมูล เอกสาร หลักฐาน สถิติ รายงานการเงิน หรือเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นได้ตามที่เห็นสมควร  ทั้งนี้ เพื่อประกอบการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ

 

มาตรา ๒๔  ให้ประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ได้รับค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย เบี้ยประชุม และประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

 

ส่วนที่ ๒

คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา

                  

 

มาตรา ๒๕  ให้มีคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “กมอ.” ประกอบด้วย

(๑) ประธานกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามข้อเสนอของ กกอ.

(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งตามข้อเสนอของ กกอ. จากผู้มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านการอุดมศึกษา จำนวนไม่เกินเจ็ดคน

ให้รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมอบหมายเป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้ กกอ. เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสองเท่าของจำนวนที่จะต้องแต่งตั้งต่อรัฐมนตรีและเมื่อรัฐมนตรีได้แต่งตั้งแล้วให้นำรายชื่อผู้ซึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจัดทำเป็นบัญชีสำรองต่อไป

ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษา อธิการบดีหรือผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษา หรือตำแหน่งอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมิได้

ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ต้องทำงานด้วยความเป็นอิสระ

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งการทำบัญชีสำรอง เพื่อเลื่อนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  ทั้งนี้ บัญชีสำรองให้มีอายุเท่ากับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

 

มาตรา ๒๖  นอกจากการให้ข้อเสนอแนะและความเห็นชอบแก่รัฐมนตรีตามมาตรา ๑๗ (๖) (๗) และ (๑๒) และให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรี ตามมาตรา ๑๗ (๘) และ (๙) แล้ว กมอ. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม ตรวจสอบการจัดการศึกษาและการประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการประเมินผลการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยคำนึงถึงประเภทและกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา ตลอดจนความเป็นอิสระและความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งด้วย

(๒) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอต่อสภานโยบายให้กำหนดมาตรการทางการเงินการคลังและสิทธิประโยชน์อื่น เพื่อให้มีการพัฒนามาตรฐานการอุดมศึกษา

(๓) ให้คำแนะนำและสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานการอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ

(๔) กำกับ เร่งรัด ติดตาม และให้คำแนะนำแก่สำนักงานปลัดกระทรวงในการจัดทำฐานข้อมูลมาตรฐานการอุดมศึกษา

(๕) รายงานผลการปฏิบัติตามแผนด้านการอุดมศึกษาตามหน้าที่และอำนาจต่อรัฐมนตรี

(๖) ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และความเห็นต่อรัฐมนตรีหรือสภานโยบายตามที่รัฐมนตรีหรือสภานโยบายมอบหมาย

(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำการแทนหรือเพื่อดำเนินการตามที่ กมอ. มอบหมาย

(๘) ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของ กมอ. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือสภานโยบายมอบหมาย

การใช้อำนาจของ กมอ. ต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระ ความหลากหลาย ประเภทและกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา รวมทั้งสถานภาพของแต่ละสาขาวิชาและแต่ละสถาบันอุดมศึกษาด้วย

 

มาตรา ๒๗  ในการกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษา กมอ. ต้องยึดหลักการ ดังต่อไปนี้

(๑) มาตรฐานการอุดมศึกษาต้องกำหนดให้ทันสมัยตามพัฒนาการของโลกและสังคม

(๒) มาตรฐานการอุดมศึกษาต้องกำหนดโดยคำนึงถึงความหลากหลายของประเภทและกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา

(๓) มาตรฐานการอุดมศึกษาต้องให้ความสำคัญกับความรู้ สมรรถนะ ทักษะ เจตคติ ซึ่งเป็นผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ซึ่งเกิดขึ้นแก่ผู้เรียนและสามารถวัดได้ การกำหนดวิธีการจัดการศึกษาต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นตามมาตรฐานสากล เพื่อเป็นการประกันคุณภาพขั้นต่ำ โดยไม่กระทบต่อความเป็นอิสระของสถาบันอุดมศึกษาในการจัดการศึกษา

(๔) ต้องรับฟังความคิดเห็นของสถาบันอุดมศึกษา ผู้เรียน คณาจารย์ และผู้ใช้บัณฑิตอย่างกว้างขวาง

(๕) มีระบบให้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานการอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเป็นระยะ และมีระบบการให้สถาบันอุดมศึกษาอุทธรณ์คำวินิจฉัยหรือคำสั่ง กมอ. ได้

(๖) หลักการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

มาตรา ๒๘  ให้นำความในมาตรา ๒๒ มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

หมวด ๕

การจัดระเบียบบริหารราชการสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

ในสังกัดของกระทรวงที่เป็นนิติบุคคล

                  

 

มาตรา ๒๙  ระเบียบปฏิบัติราชการหรือระเบียบปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงที่เป็นนิติบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

การแบ่งส่วนราชการและการแบ่งส่วนงานภายในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษานั้น

 

มาตรา ๓๐  ให้มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เรียกโดยย่อว่า “ก.พ.อ.” ทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวงตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

 

มาตรา ๓๑  กระทรวงอาจขอให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัดของกระทรวง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและแผนงานเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษานั้น ตลอดจนรายละเอียดทางวิชาการ การเงิน สถิติ และข้อมูลอื่นเพื่อประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลการอุดมศึกษาและการปฏิบัติราชการในหน้าที่และอำนาจได้

ความในวรรคหนึ่งให้นำมาใช้บังคับแก่สถาบันอุดมศึกษาที่ไม่อยู่ในสังกัดของกระทรวงและสถาบันอุดมศึกษาเอกชนด้วยโดยอนุโลม

 

หมวด ๖

การส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษา

                  

 

มาตรา ๓๒  ในกรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงมีข้อตกลงการพัฒนาการอุดมศึกษากับสถาบันอุดมศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาการผลิตกำลังคนในสาขาที่ประเทศมีความต้องการหรือเพื่อพัฒนาในด้านอื่นตามที่สภานโยบายกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษาอาจขอรับการส่งเสริมด้านงบประมาณเพื่อการนั้นได้

 

บทเฉพาะกาล

                  

 

มาตรา ๓๓  ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้  ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสองร้อยสี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

มาตรา ๓๔  ให้สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเป็นส่วนราชการในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เป็นส่วนราชการที่มีชื่ออย่างเดียวกันในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามพระราชบัญญัตินี้

ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน เงินงบประมาณ ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของส่วนราชการในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ตามวรรคหนึ่งไปเป็นของส่วนราชการที่มีชื่ออย่างเดียวกันในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามพระราชบัญญัตินี้

 

มาตรา ๓๕  ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน เงินงบประมาณ ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาซึ่งเป็นส่วนราชการในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ไปเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงประเภทตำแหน่ง ชื่อตำแหน่งในสายงานและระดับตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะราย และให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนอื่นไม่น้อยกว่าที่ได้รับอยู่เดิม จนกว่าจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอื่น

บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีใดที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อ้างถึง “สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา” หรือ “เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา” ให้ถือว่าอ้างถึง “สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” หรือ “ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” แล้วแต่กรณี เว้นแต่บทบัญญัติที่กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นส่วนราชการอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้ถือว่าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐดังกล่าวอยู่ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

มาตรา ๓๖  ในวาระเริ่มแรก ให้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติตามมาตรา ๙

ให้โอนบรรดาทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ หนี้ ภาระผูกพัน โครงการวิจัยและกิจกรรมส่งเสริมการวิจัย เงินงบประมาณ ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนราชการในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ไปเป็นของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัตินี้

บรรดาบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีใดที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อ้างถึง “สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ” หรือ “เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ” ให้ถือว่าอ้างถึง “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” หรือ “ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” แล้วแต่กรณี

 

มาตรา ๓๗  เมื่อครบกำหนดสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามมาตรา ๔๑ ประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติซึ่งเป็นส่วนราชการตามมาตรา ๘ (๔) และในกรณีที่เห็นว่า ผลการปฏิบัติราชการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงโครงสร้างและกลไกในการบริหารเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีอำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติเป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน โดยเสนอพร้อมร่างพระราชกฤษฎีกาด้วย และเมื่อพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับให้มาตรา ๘ (๔) และมาตรา ๑๓ เป็นอันยกเลิก

หลักเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกำหนด

 

มาตรา ๓๘  ให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิทยาศาสตร์บริการตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเมื่อพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ให้มาตรา ๘ (๓) และมาตรา ๑๒ เป็นอันยกเลิก

 

มาตรา ๓๙  เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง หรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดส่วนราชการในกระทรวงไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่นหรือหน่วยงานในกำกับของกระทรวงได้เป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนดได้

ให้นับระยะเวลาที่ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง หรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่นหรือหน่วยงานในกำกับของกระทรวงตามวรรคหนึ่งเป็นระยะเวลาปฏิบัติราชการให้แก่ต้นสังกัด เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่ผู้นั้น

ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่นหรือหน่วยงานในกำกับของกระทรวงตามวรรคหนึ่ง ให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง หรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาตามวรรคหนึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยข้อเสนอแนะของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ

 

มาตรา ๔๐  คดีที่ส่วนราชการซึ่งโอนกิจการตามมาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ ไปเป็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม บรรดาซึ่งได้ฟ้องต่อศาลไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ส่วนราชการซึ่งรับโอนตามมาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน และดำเนินกระบวนพิจารณาไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด และให้ถือว่าผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนส่วนราชการที่ถูกโอนในคดีนั้น ๆ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากส่วนราชการที่รับโอน แล้วแต่กรณี ตามพระราชบัญญัตินี้

ในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาคดีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ส่วนราชการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น

 

มาตรา ๔๑  ในสี่ปีแรกนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๓๕/๒๕๖๒ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมถึงที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามมาตรานี้ โดยมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) จัดทำแนวทางการพัฒนาระบบ กลไก การบูรณาการการทำงานและวิธีการปฏิบัติราชการ การจัดโครงสร้างและอัตรากำลังของหน่วยงานในบังคับบัญชาและในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้แล้วเสร็จภายในสามปี เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะรัฐมนตรี

(๒) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการตีความและวินิจฉัยปัญหาอันเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัตินี้

(๓) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความเห็น หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา

(๔) ดำเนินการอื่นตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมอบหมาย

 

 

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  จึงจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตหน้าที่และอำนาจ และการจัดระเบียบบริหารราชการของกระทรวงดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการในระดับต่าง ๆ ของกระทรวงมีเอกภาพ สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


 

 

 

ปุณิกา/ธนบดี/จัดทำ

๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒

 

ปริญสินีย์/ตรวจ

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒

 

 



[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖/ตอนที่ ๕๗ ก/หน้า ๗๙/๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒

หัวหน้างานบริหารบุคคลและนิติการ

หัวหน้าหน่วยงาน

นางสาวพิชญาดา ธานี
ผู้อำนวยการกองกลาง
รักษาการในตำแหน่งหัวหน้างานบริหารบุคคลและนิติการ

หัวหน้าหน่วยวินัยและนิติการ

หัวหน้าหน่วยงาน

อาจารย์เนธิชัย ธานะราช

ปฏิบัติหน้าที่
หัวหน้าหน่วยวินัยและนิติการ

งานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ศาลปกครอง

ศาลยุติธรรม

6. สำนักงาน ป.ป.ช.

7.  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

8. กรมบัญชีกลาง

9. ราชกิจจานุเบกษา

ผู้ดูแลระบบ

จำนวนผู้ใช้งาน

กิจกรรม

ข้อมูลทั่วไป

ดาวน์โหลดข้อมูล

สวัสดิการบุคลากร